77603 จำนวนผู้เข้าชม |
นี่เป็นคำถามยอดนิยมจากผู้ที่มารับคำปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการนำเงินจากการลาออกจากงานมาเพื่อใช้จ่าย แต่จะทำยังไงกับเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก้อนนี้ดี ต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร หรือจะย้ายไปที่อื่นได้ไหม วิธีไหนจะถูกต้องและได้ผลประโยชน์มากที่สุด
ก่อนอื่นต้องรู้ว่า่ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ
1. เงินสะสม (ส่วนที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) เฉพาะเงินส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีอัตโนมัติทันทีเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อลาออก, นำเงินออก หรือถูกให้ออก ในส่วนของเงินสะสมของตัวเองจะได้รับการยกเว้นภาษี
2. ผลประโยชน์เงินสะสม (ส่วนที่งอกเงยจากการลงทุนด้วยเงินของเรา)
3. .เงินสมทบ (ส่วนที่นายจ้างจ่ายให้)
4. ผลประโยชน์เงินสมทบ (ส่วนที่งอกเงยจากการลงทุนด้วยเงินของนายจ้าง)
วิธีคิดง่ายๆ คือ ในส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นเงินตัวเราเองได้รับการยกเว้นภาษีในทุกกรณี แต่เงินในส่วนที่ 2, 3 และ 4 เป็นผลประโยชน์ที่ต้องดูเงื่อนไขก่อนว่าต้องเสียภาษีหรือไม่
เงื่อนไขการไม่ต้องเสียภาษีในส่วนที่ 2, 3 และ 4
1. อายุเมื่อถอนเงิน
เงินทั้ง 3 ส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวนก็ต่อเมื่อเราถอนเงินออกเมื่อมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป
2. จำนวนปีที่ทำงาน เราต้องทำงานและเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็จะไม่ต้องเสียภาษี (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพไม่ต้องทำงานถึง 5 ปีก็ได้รับการยกเว้นภาษีค่ะ)
ทำอย่างไรเมื่อถอนเงินก่อนอายุ 55 แบ่งการเสียภาษีออกเป็น 2 แบบ คือ
1 เมื่อถอนเงินโดยอายุงานไม่ถึง 5 ปี จะต้องนำเงินส่วนที่ 2, 3 และ 4 นี้ ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี
2. เมื่อถอนเงินโดยอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เงินในส่วนที่ 2,3 และ 4 จะสามารถนำมาใช้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้ 2 ส่วน ดังนี้
ค่าใช้จ่ายส่วนแรก คำนวณโดยการนำ 7,000 คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน จากนั้นนำมาลบกับเงินที่เรารับมา
ส่วนที่เหลือให้หักได้ครึ่งหนึ่ง แล้วนำยอดที่เหลือท้ายสุดนี้ไปแยกยื่นเสียภาษี (ไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษี)
สิ่งที่ต้องตัดสินใจเมื่อลาออกหรือถูกให้ออกก็คือ
1. คงเงินไว้ในกองทุนต่อไป เป็นการคงเงินไว้ในกองทุนเดิม โดยจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างอีกและมีค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท เราสามารถคงไว้จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์แล้วค่อยถอนเพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษี
2. ย้ายไปกองทุนรวม RMF for PVD เป็นการลงทุนในกองทุนรวม RMF สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3. ย้ายไปที่ทำงานใหม่ เราอาจคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมก่อน รอจนกว่าเราจะได้งานที่อื่นแล้วย้ายเงินส่วนนี้ไปกองทุนใหม่โดยไม่ต้องมีการรับเงินออกจากกองทุนเมื่อลาออก เพื่อไม่ต้องผิดเงื่อนไขจึงไม่ต้องเสียภาษีในเงินส่วนนี้
4. ถอนออกมา เพื่อนำไปใช้จ่ายหรือนำไปลงทุนเอง หากอายุ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว ก็อาจเลือกถอนเงินออกมาดูแลเองหรือคงไว้เหมือนเดิมก็ได้ ไม่ต้องระวังเรื่องภาษี แต่หากอายุไม่ถึง 55 ควรคำนวณเรื่องภาษีก่อนและศึกษาเงิื่อนไขการถอนเงินเพราะการถอนก่อนเวลาที่กำหนด ทำให้ผิดเงื่อนไข ต้องเสียภาษีและอาจทำให้ได้เงินไม่เต็มจำนวนได้
ตัวอย่างการคำนวณภาษี 3 กรณี
กรณีที่ 1 ถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และอายุเป็นสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี
ต้องนำเงินที่ได้ทั้ง 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ ไปรวมกับเงินได้อื่นๆ (ถ้ามี) และยื่นเสียภาษีเงินได้สิ้นปี (ยื่นก่อน มี.ค. ปีถัดไป)
วิธีคำนวณภาษีสำหรับกรณีที่ 1
ส่วนที่ 1 เงินสะสม = 100,000 บาท
ส่วนที่ 2 ผลประโยชน์จากเงินสะสม = 20,000 บาท
ส่วนที่ 3 เงินสมทบ = 100,000 บาท
ส่วนที่ 4 ผลประโยชน์จากเงินสมทบ = 20,000 บาท
นำส่วนที่ 2+3+4 = 20,000 + 100,000 + 20,000 = 140,000 บาท ไปรวมกับเงินได้อื่นในปีนั้นเพื่อคำนวณภาษี ถ้าไม่มีรายได้อื่นก็ยื่นเพียงตัวเลขที่คำนวณมานี้
==========================
กรณีที่ 2 ถอนเงินก่อนอายุ 55 ปี แต่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
แบบนี้เราจะเลือกได้ว่า ต้องการนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษีรวมหรือจะแยกรายได้นี้ออกมาคำนวณภาษีต่างหาก ซึ่งการแยกยื่นภาษีนี้จะสามารถใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษได้ 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 นำ 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน ใช้ตัวเลขนี้หักเป็นค่าใช้จ่ายส่วนแรกก่อน
ส่วนที่ 2 เมื่อนำเงินที่ได้หักค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1 แล้วเหลือเท่าไหร่ให้หักค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง หรือให้หาร 2 นั่นเอง แล้วเอาตัวเลขรายได้สุทธิที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายนี้ ไปคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยที่แบบนี้จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิขั้นแรก 150,000 บาท
วิธีคำนวณภาษีสำหรับกรณีที่ 2
ส่วนที่ 1 เงินสะสม = 100,000 บาท
ส่วนที่ 2 ผลประโยชน์จากเงินสะสม = 20,000 บาท
ส่วนที่ 3 เงินสมทบ = 100,000 บาท
ส่วนที่ 4 ผลประโยชน์จากเงินสมทบ = 20,000 บาท
หากทำงานส่งเงินเข้ากองทุนมา 6 ปี และเงินที่ต้องนำไปรวมเพื่อเสียภาษี คือส่วนที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งเท่ากับ 140,000 บาท
ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1 : 7,000 x 6 = 42,000 บาท
นำมาหักกับ 140,000 เหลือ 98,000
ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 : 98,000 หาร 2 = 49,000 บาท
สรุป
เงินได้สุทธิ = 140,000 – 42,000 – 49,000 = 49,000 บาท
แล้วนำยอด 49,000 นี้ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากไม่มีรายได้อื่นก็จะเสียภาษีในอัตรา 5% (อัตราภาษีขั้นแรกแบบไม่มีการยกเว้น 150,000 บาทแรก)
49,000 x 5% = เสียภาษี 2,450 บาท
==========================
กรณีที่ 3 : ถอนเงินอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และส่งเงินเข้ากองทุนมาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
***กรณีนี้ เงินได้ทั้งหมดจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
==========================
ฟรี…บริการออกแบบประกันให้ความความต้องการ
เพียงแจ้งชื่อ อายุ เพศ แบบประกัน/ความคุ้มครองที่ต้องการ หรือ งบประมาณเบี้ยประกันต่อปี
แอดไลน์ : https://line.me/ti/p/S4ZgdTCQoS หรือ 0849290088
วางแผนดอทคอมจะส่งแบบประกันพร้อมเบี้ยและรายละเอียดให้ทางไลน์โดยเร็วที่สุดค่ะ
ติดต่อสอบถาม เช็คเบี้ย หรือปรึกษาการวางแผนประกัน
ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล, CFP®, MDRT
Line: 0849290088
นักวางแผนการเงิน คุณวุฒิ CFP (Certified Financial Planner)
ผู้วางแผนการลงทุน (IP License) และ ผู้แนะนำการลงทุน (IC License)
ผู้จัดการขาย Triple A บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
หากใครมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามหรือปรึกษาเพิ่มเติม
ติดต่อ และ ติดตามอัพเดตเรื่องน่ารู้ทางการเงินกับพี่แผน ได้ทาง
วางแผน.com (wangpaan.com)
Line: @Wangpaan
Facebook: Wangpaan
Youtube: Wangpaan
อย่าลืมกด Like, Follow และ Subscript จะได้ไม่พลาดข่าวสารสำคัญจากพี่แผนนะครับ